สมุนไพรไทย | ขลู่


สมุนไพร - กลุ่มยา รักษาริดสีดวงทวาร

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Pluchea indica (L.) Less.
ชื่อสามัญ : Indian Marsh Fleabane
วงศ์ : Asteraceae (Compositae)

ชื่ออื่น : หนวดงั่ว หนวดงิ้ว หนวดงัว หนาดวัว (อุดรธานี) ขี้ป้าน (แม่ฮ่องสอน) คลู ขลู (ภาคใต้)

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : ไม้พุ่ม สูง 1-2.5 เมตร เปลือกต้นเรียบ สีน้ำตาล ใบ เป็นใบเดี่ยว ออกเรียงเวียน รูปรี ปลายใบเรียวแหลม โคนใบสอบ ขอบใบจักเป็นฟันเลื่อยห่างๆ สีเขียว ก้านใบสั้น ดอก ออกเป็นช่อแยกขนงตามปลายยอด ช่อย่อยเป็นช่อกระจุกแน่น ดอกสีม่วงอ่อน ดอกย่อยมี 2 แบบ ตรงกลางเป็นดอกสมบูรณ์เพศ ดอกที่เหลืออยู่รอบๆ เป็นดอกเพศเมีย กลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอด ปลายแยกเป็น 5 แฉก ผล เป็นผลแห้งเมล็ดล่อน รูปทรงกระบอก เป็นสันเหลี่ยม 10 สัน

ส่วนที่ใช้ : ทั้งต้นสด หรือแห้ง เปลือก ใบ เมล็ด ดอก (นิยมใช้เฉพาะใบ)

สรรพคุณ :

1. ทั้งต้นสด หรือแห้ง
- ปรุงเป็นยาต้มรับประทานขับปัสสาวะ แก้โรคนิ่วในไต แก้ปัสสาวะพิการ แก้วัณโรคที่ต่อมน้ำเหลือง เป็นยาช่วยย่อย แก้ริดสีดวงทวารหนัก ริดสีดวงจมูก

2. เปลือก ใบ เมล็ด
- แก้ริดสีดวงทวาร ริดสีดวงจมูก แก้กระษัย เป็นยาอายุวัฒนะ

3. ใบ
- มีกลิ่นหอม ต้มน้ำดื่ม แทนเป็นน้ำชา เพื่อลดน้ำหนัก แก้ปวดเมื่อย ขับระดูขาว แก้แผลอักเสบ และต้มน้ำอาบบำรุงประสาท สำหรับแก้แผลอักเสบ อาจใช้ใบสดตำพอก บริเวณที่เป็น แก้ริดสีดวงทวาร ยาอายุวัฒนะ

4. ใบและราก
- รับประทานเป็นยาฝาดสมาน แก้บิด แก้ไข้ ขับเหงื่อ แก้แผลอักเสบ ใช้รากสดตำพอกบริเวณที่เป็น

5. ดอก
- แก้โรคนิ่ว

วิธีและปริมาณที่ใช้ :

1. เป็นยาแก้อาการขัดเบา
ใช้ทั้งต้นขลู่ 1 กำมือ (สดหนัก 40- 50 กรัม แห้งหนัก 15- 20 กรัม ) หั่นเป็นชิ้นๆ ต้มกับน้ำดื่ม ครั้งละ 1 ถ้วยชา (75 มิลลิลิตร) วันละ 3 ครั้ง ก่อนอาหาร

2. เป็นยาริดสีดวงทวาร ริดสีดวงจมูก
ใช้เปลือกต้น ต้มน้ำ เอาไอรมทวารหนัก และรับประทาน แก้โรคริดสีดวงทวาร หรือใช้เปลือกต้น (ขูดเอาขนออก) แบ่งเป็น 3 ส่วน
ส่วนที่ 1 นำมาตากแห้ง ทำเป็นยาสูบ
ส่วนที่ 2 นำมาต้มน้ำรับประทาน
ส่วนที่ 3 ต้มน้ำเอาไปรมทวารหนัก
เปลือกบางของต้นขูดขนออกให้สะอาด ทำเป็นเส้นตากแห้ง คล้ายเส้นยาสูบ แก้ริดสีดวงจมูก

3. การใช้ขลู่ในใบชาลดความอ้วน !
การใช้ยาขับปัสสาวะในทางการแพทย์นั้น มักใช้เพื่อลดความดันโลหิต และเพื่อลดอาการบวมน้ำ อาจมีที่ใช้ในกรณีอื่นอีกบ้าง แต่แพทย์ไม่ใช้ยาขับปัสสาวะ เพื่อลดความอ้วน สมุนไพรที่ใช้ชื่อว่า ใบชาลดความอ้วน ทั้งหลาย มักมีสมุนไพรที่มีฤทธิ์ขับปัสสาวะอยู่ด้วย เมื่อแพทย์ไม่ใช้ยาขับปัสสาวะเพื่อลดความอ้วน ทำไมผู้ที่มิใช้แพทย์จึงใช้สมุนไพรขับปัสสาวะเพื่อลดความอ้วน ? (ข้อนี้โปรดใช้วิจารณญาณ)

สารเคมี :
ในใบพบ 3-(2,3-diacetoxy-2-methyl butyryl) cuauhtemone


SPECIAL THANKS

credit : www.rspg.or.th
image credit : herb.ohojunk.com

ไม่มีความคิดเห็น: