สมุนไพรไทย | ว่านหางจระเข้


สมุนไพร - กลุ่มยา รักษาริดสีดวงทวาร

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Aloe vera  (L.)  Burm.f.
ชื่อพ้อง : Aloe barbadensis  Mill
ชื่อสามัญ :  Star cactus, Aloe, Aloin, Jafferabad, Barbados
วงศ์Asphodelaceae
ชื่ออื่น : หางตะเข้ (ภาคกลางว่านไฟไหม้ (ภาคเหนือ)
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : ไม้ล้มลุกอายุหลายปี สูง 0.5-1 เมตร ลำต้นเป็นข้อปล้องสั้น ใบ เป็นใบเดี่ยว ออกเรียงเวียนรอบต้น ใบหนาและยาว โคนใบใหญ่ ส่วนปลายใบแหลม ขอบใบเป็นหนามแหลมห่างกัน แผ่นใบหนาสีเขียว มีจุดยาวสีเขียวอ่อน อวบน้ำ ข้างในเป็นวุ้นใสสีเขียวอ่อน ดอก ออกเป็นช่อกระจะที่ปลายยอด ก้านช่อดอกยาว ดอกสีแดงอมเหลือง โคมเชื่อมติดกันเป็นหลอด ปลายแยกเป็น 6 แฉก เรียงเป็น 2 ชั้น รูปแตร ผล เป็นผบแห้งรูปกระสวย

ส่วนที่ใช้ : ยางในใบ น้ำวุ้น เนื้อวุ้น และเหง้า

สรรพคุณ :
1. ใบ - รสเย็น ตำผสมสุรา พอกฝี
2. ทั้งต้น - รสเย็น ดองสุราดื่มขับน้ำคาวปลา
3. ราก - รสขม รับประทานถ่ายโรคหนองใน แก้มุตกิด
4. ยางในใบ - เป็นยาระบาย
5. น้ำวุ้นจากใบ - ล้างด้วยน้ำสะอาด ฝานบางๆ รักษาแผลสดภายนอก น้ำร้อนลวก ไฟไหม้ ทำให้แผลเป็นจางลง ดับพิษร้อน ทาผิวป้องกันและรักษาอาการไหม้จากแสงแดด ทาผิวรักษาสิวฝ้า และขจัดรอยแผลเป็น
6. เนื้อวุ้น - เหน็บทวาร รักษาริดสีดวงทวาร
7. เหง้า - ต้มรับประทานแก้หนองใน โรคมุตกิด

วิธีและปริมาณที่ใช้ :
  • ใช้เป็นยาภายใน
1. เป็นยาถ่าย
ใช้น้ำยางสีเหลืองที่มีรสขม คลื่นไส้ อาเจียน น้ำยางสีเหลืองที่ไหลออกมาระหว่างผิวนอกของใบกับตัววุ้น จะให้ยาที่เรียกว่า ยาดำ
วิธีการทำยาดำ
ตัดใบว่านหางจระเข้ที่โคนใบให้เป็นรูปสามเหลี่ยม (ต้องเป็นพันธุ์เฉพาะ ซึ่งจะมีขนาดใบใหญ่ และอวบน้ำมาก จะให้น้ำยางสีเหลืองมาก) ต้นที่เหมาะจะตัด ควรมีอายุ 9 เดือนขึ้นไป จะให้น้ำยางมากไปจนถึงปีที่ 3 และจะให้ไปเรื่อยๆ จนถึงปีที่ 10 ตัดใบว่านหางจระเข้ตรงโคนใบ และปล่อยให้น้ำยางไหลลงในภาชนะ นำไปเคี่ยวให้ข้น เทลงในพิมพ์ ทิ้งไว้จะแข็งเป็นก้อน
ยาดำ มีลักษณะสีแดงน้ำตาล จนถึงดำ เป็นของแข็ง เปราะ ผิวมัน กลิ่นและรสขม คลื่นไส้ อาเจียน
สารเคมี :
- สารสำคัญในยาดำเป็น G-glycoside ที่มีชื่อว่า barbaloin (Aloe-emodin anthrone C-10 glycoside)
ขนาดที่ใช้เป็นยาถ่าย - 0.25 กรัม เท่ากับ 250 มิลลิกรัม ประมาณ 1-2 เม็ดถั่วเขียว บางคนรับประทานแล้วไซ้ท้อง
2. แก้กระเพาะ ลำไส้อักเสบ
โดยเอาใบมาปอกเปลือกออก เหลือแต่วุ้น แล้วใช้รับประทาน วันละ 2 เวลา ครั้งละ 2 ช้อนโต๊ะ
3. แก้อาการปวดตามข้อ
โดยการดื่มว่านหางจระเข้ทั้งน้ำ วุ้น หรืออาจจะใช้วิธีปอกส่วนนอกของใบออก เหลือแต่วุ้น นำไปแช่ตู้เย็นให้เย็นๆ จะช่วยให้รับประทานได้ง่าย รับประทานวันละ 2-3 ครั้งๆ ละ 1-2 ช้อนโต๊ะ เท่ากับ 2 ช้อนแกง บางคนบอกว่า เมื่อรับประทานว่านหางจระเข้ อาการปวดตามข้อจะทุเลาทันที แต่หลายๆ คนบอกว่า อาการจะดีขึ้นหลังจากรับประทานติดต่อกันสองเดือนขึ้นไป สำหรับใช้รักษาอาการนี้ ยังไม่ได้ทำการวิจัย
  • ใช้สำหรับเป็นยาภายนอก
ใช้ส่วนวุ้น ต้องล้างน้ำยางสีเหลืองออกให้หมด
1. รักษาแผลไฟไหม้ และน้ำร้อนลวก
ใช้วุ้นในใบสดทา หรือแปะที่แผลให้เปียกอยู่ตลอดเวลา 2 วันแรก แผลจะหายเร็วมาก จะบรรเทาปวดแสบ ปวดร้อน หรืออาการปวดจะไม่เกิดขึ้น แผลอาจไม่มีแผลเป็น (ระวังความสะอาด)
2. ผิวไหม้เนื่องจากถูกแดดเผา และแก้แผลเรื้อรังจากการฉายรังสี
ป้องกันการถูกแดดเผา ใช้ทาก่อนออกแดด อาจใช้ใบสดก็ได้ แต่การใช้ใบสดอาจจะทำให้ผิวหนังแห้ง เนื่องจากใบว่านหางจระเข้มีฤทธิ์ฝาดสมาน ถ้าจะลดการทำให้ผิวหนังแห้ง อาจจะใช้ร่วมกับน้ำมันพืช หรืออาจจะเตรียมเป็นโลชันให้สะดวกในการใช้ขึ้น
- รักษาผิวหนังที่ถูกแดดเผา หรือไหม้เกรียมจากการฉายแสง โดยการทาด้วยวุ้นของว่านหางจระเข้บ่อยๆ จะลดการอักเสบลง แต่ถ้าใช้วุ้นทานานๆ จะทำให้ผิวแห้ง ต้องผสมกับน้ำมันพืช ยกเว้นแต่ จะทำให้เปียกชุ่มอยู่เสมอ
3. แผลจากของมีคม แก้ฝี แก้ตะมอย และแผลที่ริมฝีปาก
เป็นการรักษาแบบพื้นบ้าน ล้างใบว่านหางจระเข้ให้สะอาด บาดแผลก็ต้องทำความสะอาดเช่นกัน นำวุ้นจากใบแปะตรงแผลให้มิด ใช้ผ้าปิด หยอดน้ำเมือกลงตรงแผลให้เปียกอยู่เสมอ หรือจะเตรียมเป็นขี้ผึ้งก็ได้
4. แผลจากการถูกครูด หรือถลอก
แผลพวกนี้จะเจ็บปวดมาก ใช้ใบว่านหางจระเข้ล้างให้สะอาด ผ่าเป็นซีก ใช้ด้านที่เป็นวุ้นทาแผลเบาๆ ในวันแรกควรทาบ่อยๆ จะทำให้แผลไม่ค่อยเจ็บ และแผลหายเร็วขึ้น
5. รักษาริดสีดวงทวาร
นอกจากจะช่วยรักษาแล้ว ยังช่วยบรรเทาอาการปวด อาการคันได้ด้วย โดยทำความสะอาดทวารหนักให้สะอาดและแห้ง ควรปฏิบัติหลังจากการอุจจาระ หรือหลังอาบน้ำ หรือก่อนนอน เอาว่านหางจระเข้ปอกส่วนนอกของใบ แล้วเหลาให้ปลายแหลมเล็กน้อย เพื่อใช้เหน็บในช่องทวารหนัก ถ้าจะให้เหน็บง่าน นำไปแช่ตู้เย็น หรือน้ำแข็งให้แข็ง จะทำให้สอดได้ง่าย ต้องหมั่นเหน็บวันละ 1-2 ครั้ง จนกว่าจะหาย
6. แก้ปวดศีรษะ
ตัดใบสดของว่านหางจระเข้หนาประมาณ ? เซนติเมตร ทาปูนแดงด้านหนึ่ง เอาด้านที่ทาปูนปิดตรงขมับ จะช่วยบรรเทาอาการปวดศีรษะ
7. เป็นเครื่องสำอาง
7.1 วุ้นจากใบสดชโลมบนเส้นผม ทำให้ผมดก เป็นเงางาม และเส้นผมสลวย เพราะวุ้นของว่านหางจระเข้ทำให้รากผมเย็น เป็นการช่วยบำรุงต่อมที่รากผมให้มีสุขภาพดี ผมจึงดกดำเป็นเงางาม นอกจากนั้นแล้ว ยังช่วยรักษาแผลบนหนังศีรษะด้วย
7.2 สตรีชาวฟิลิปปินส์ ใช้วุ้นจากว่านหางจระเข้รวมกับเนื้อในของเมล็ดสะบ้า (เนื้อในของเมล็ดสะบ้ามีสีขาว ส่วนผิวนอกของเมล็ดสะบ้ามีสีน้ำตาลแดง รูปร่างกลมแบนๆ ใช้เป็นที่ตั้งในการเล่นสะบ้า) ต่อเนื้อในเมล็ดสะบ้าประมาณ ? ของผลให้ละเอียด แล้วคลุกรวมกับวุ้น นำไปชโลมผมไว้ประมาณ 1 ชั่วโมง แล้วล้างออก ใช้กับผมร่วง รักษาศีรษะล้าน
7.3 รักษาผิวเป็นจุดด่างดำ ผิวด่างดำนี้อาจเกิดขึ้นเนื่องจากอายุมาก หรือถูกแสงแดด หรือเป็นความไวของผิวหนังแต่ละบุคคล ใช้วุ้นทาวันละ 2 ครั้ง หลังจากได้ทำความสะอาดผิวด้วยน้ำสะอาด ต้องมีความอดทนมาก เพราะต้องใช้เวลาเป็นเดือนๆ จึงจะหายจากจุดด่างดำ แต่ถึงอย่างไรก็ดี ควรใช้วุ้นจากว่านหางจระเข้ทา จะทำให้ผิวหนังมีน้ำ มีนวลขึ้น
7.4 รักษาสิว ยับยั้งการติดเชื้อ ช่วยเรียกเนื้อ ช่วยลดความมันบนใบหน้า เพราะในใบว่านหางจระเข้มีฤทธิ์เป็นกรดอ่อนๆ
7.5 โรงพยาบาลรามาธิบดี กำลังลองใช้กับคนไข้ที่เป็นแผล เกิดขึ้นจากนั่ง หรือนอนทับนานๆ ( Bed sore )
ปัจจุบัน มีเครื่องสำอางที่เตรียมขายในท้องตลาดหลายารูปแบบ เช่น ครีม โลชัน แชมพู และสบู่
สำหรับสาระสำคัญที่สามารถรักษาแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก และอื่นๆ นั้น ได้ค้นพบว่าเป็นสาร glycoprotein มีชื่อว่า Aloctin A เป็น Anti-inflammatory พบในทุกๆ ส่วนของว่านหางจระเข้

ข้อควรระวังในการใช้ :

ถ้าใช้เป็นยาภายใน คือ เป็นยาถ่าย ห้ามใช้กับคนที่ตั้งครรภ์ กำลังมีประจำเดือน และคนที่เป็นริดสีดวงทวาร
ถ้าใช้เป็นยาภายนอก อาจมีคนแพ้แต่น้อยมาก ไม่ถึง 1% (ผลจากการวิจัย) อาการแพ้ เมื่อทาหรือปิดวุ้นลงบนผิวหนัง จะทำให้ผิวหนังแดงเป็นผื่นบางๆ บางครั้งเจ็บแสบ อาการนี้จะเกิดขึ้นหลังจากทายา 2-3 นาที ถ้ามีอาการเช่นนี้ ให้รีบล้างออกด้วยน้ำที่สะอาด และเลิกใช้
นักวิทยาศาสตร์ชาวญี่ปุ่น สามารถแยกแยะสาระสำคัญตัวใหม่จากใบว่านหางจระเข้ได้ สารตัวใหม่นี้เป็น glycoprotein มีชื่อว่า Aloctin A ได้จดสิทธิบัตรไว้ที่ European Patent Application ในวันที่ 20 พฤศจิกายน .. 2521
นอกจากนี้พบว่า สารนี้สามารถรักษาโรคได้หลายโรค เช่น มะเร็ง แก้อาการแพ้ รักษาไฟไหม้ และรักษาโรคผิวหนัง
สารเคมี :
ใบมี Aloe-emodin, Alolin, Chrysophanic acid Barbaboin, AloctinA, Aloctin B, Brady Kininase Alosin, Anthramol Histidine, Amino acid , Alanine Glutamic acid Cystine, Glutamine, Glycine.

SPECIAL THANKS

credit : www.rspg.or.th
image credit : herb.ohojunk.com

ไม่มีความคิดเห็น: